ความเป็นมา
ลองกองเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และเป็นพืชหนึ่งที่เกษตรกรให้ความสนใจและนิยมปลูกกันมากขึ้น เห็นได้จากอัตราการขยายตัวของพื้นที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2545 มีพื้นที่ปลูกรวมทั้งประเทศประมาณ 350,000 ไร่ และมีการขายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2541 ซึ่งมีพื้นที่ปลูกจำนวน 236,173 ไร่ ให้ผลผลิตรวม ประมาณ 199,000 ตัน ต้นทุนการผลิตประมาณ 4,700 บาทต่อไร่ แหล่งปลูกที่สำคัญของไทยคือ ภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ยะลา นครศรีธรรมราช ชุมพร ปัตตานี ระนอง สงขลา พังงา และภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ระยอง ตราด ที่เหลือเป็นส่วนภาคอื่นๆ เช่น อุตรดิตถ์ เป็นต้น ส่วนใหญ่ใช้บริโภคภายในประเทศ จะมีการส่งออกต่างประเทศบ้างเล็กน้อย เนื่องจากสภาพปัญหาผลผลิตคุณภาพต่ำและการหลุดร่วงของผลจากช่อ รวมทั้งการเสื่อมคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวเร็ว สีผิวจะเปลี่ยนจากสีเหลืองนวลเป็นสีน้ำตาลไหม้ รวมทั้งมีอาการผลเน่าเร็ว ในปัจจุบันผลไม้ประสบปัญหาราคาตกต่ำหลังจากที่มังคุด เงาะที่เจอปัญหาแล้ว เช่นในปี 2550 นี้ลองกองประสบปัญหาล้นตลาดถึง 80,000 ตัน ซึ่งรัฐบาลได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนการตลาดโปรโมทช่วยซื้อ “ ลองกอง ” ผลไม้เศรษฐกิจจากพื้นที่ 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ได้แก่ ปัตตานี , ยะลา และนราธิวาส เพื่อช่วยหาตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมมาตรการหนุนช่วยรองรับผลผลิตลองกอง ปี 2550 เมื่อกล่าวถึง ผลไม้ ลองกองจัดเป็นแหล่งสำคัญของวิตามินและแร่ธาตุ รวมทั้งสารอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ที่จะนำไปสู่สุขภาพที่ดี ส่วนเรื่องคุณภาพลองกองนั้น ลองกองเป็นผลผลิตมีคุณภาพดีที่สุด มีเมล็ดน้อยหรืออาจจะไม่มีเมล็ดเลย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ ลองกองแห้ง ลองกองน้ำ ลองกองปาลาแม หรือลองกองแปร์แมร์
ลองกองยังคงมีส่วนเสริมสร้างความมั่นคงทางอาชีพของเกษตรกรส่วนใหญ่ในหลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทยที่นิยมปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจของครอบครัว เมื่อภาครัฐบาลสามารถส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมแปรรูปลองกองก็ย่อมช่วยส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงของประเทศด้วย ด้วยเหตุผลดังกล่าว วว. จึงมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อช่วยชาวเกษตรกรที่ปลูกลองกอง ลดปัญหาราคาลองกองตกต่ำ เพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ ผู้บริโภคได้มีผลิตภัณฑ์แปรรูปผลไม้ที่หลากหลายมากขึ้น ขยายผลิตภัณฑ์เป็นผลไม้นอกฤดูกาล เพื่อยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้สามารถสนองตอบต่อความต้องการทางการตลาดของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิตรวมทั้งเครื่องมือเครื่องจักรในกระบวนการผลิตให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีกระบวนการผลิต ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ยังคงคุณค่าทางโภชนาการ และเป็นบันไดขั้นแรกของอุตสาหกรรมแปรรูปลองกองต่อไปในอนาคต
หลักการและเหตุผล
การพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปผลไม้ เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะเพิ่มความหลากหลายและเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ได้ เนื่องจากผลไม้โดยส่วนใหญ่จะบริโภคสดหรือการแปรรูปโดยการทำแห้ง ทำให้ผลไม้มีมูลค่าไม่สูงมากนักแต่ถ้านำมาแปรรูปจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้มีความสำคัญมากขึ้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งลองกองเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติต่างๆ มากมาย คือ เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินบี และฟอสฟอรัส มีสรรพคุณในการลดความร้อนที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของมนุษย์ การรับประทานลองกองเป็นประจำก็ยังช่วยป้องกันไม่ให้เป็นไข้ ตัวร้อน ป้องกันไม่ให้เกิดอาการร้อนในขึ้นภายในปากอีกด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกองมีการค้นคว้า และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในประเทศยังมีน้อยมาก ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีผลไม้(ลองกอง) เป็นจำนวนมาก วว. จึงวิจัยและพัฒนาเพื่อช่วยชาวเกษตรกรที่ปลูกลองกอง เพิ่มมูลค่าผลผลิต ยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้สามารถสนองตอบต่อความต้องการทางการตลาดของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
วัตถุประสงค์
1) วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และ/หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกอง (น้ำลองกองพร้อมดื่มเสริมสุขภาพ , ลองกองในน้ำเชื่อมบรรจุกระป๋อง, ลองกองแช่อิ่มอบแห้ง)
2) พัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์และ/หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกอง
3) ร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกอง
4) ทำการทดลองตลาดและถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกอง (น้ำลองกอง-พร้อมดื่มเสริมสุขภาพ , ลองกองในน้ำเชื่อมบรรจุกระป๋อง, ลองกองแช่อิ่มอบแห้ง)
สถานที่ตั้งโครงการอยู่ที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
เลขที่ 35 หมู่ 3 ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
พิกัดที่ตั้ง X = 100° 43′ 10.8″ E Y = 14° 2′ 38.1″ N
แนวทางการดำเนินงาน
1. รวบรวมฐานข้อมูลทางด้านการเกษตรวิสาหกิจชุมชน และโรงงานแปรรูปเป้าหมาย และดำเนินการกำหนดและติดต่อกับผู้ประกอบการ/เกษตรกรผู้ปลูกพืชผักเป้าหมายวิสาหกิจชุมชน และโรงงานแปรรูปลองกองเป้าหมาย เพื่อขอความร่วมมือในการวิจัยร่วมและการสนับสนุนวัตถุดิบตลอดจนการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบให้ตรงตามข้อกำหนด GAP
2. การศึกษากระบวนการแปรรูปวัตถุดิบเบื้องต้นเพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และ/หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกอง เพื่อให้ได้สูตรผลิตภัณฑ์และ/หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกอง เป็นที่นิยมของผู้บริโภค
3. ศึกษา วิจัย กระบวนการแปรรูปทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและระดับโรงงานนำทางในการผลิตผลิตภัณฑ์และ/หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกองสำเร็จรูป โดยที่สามารถรักษารสชาติให้คงอยู่กับผลิตภัณฑ์และ/หรือเครื่องดื่ม
4. ศึกษาสภาวะการเก็บอายุการเก็บและการประเมินของประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์และ/หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกองสำเร็จรูปเพื่อให้สามารถเก็บรักษาคุณภาพด้าน สี กลิ่น รส คุณค่าทางโภชนาการให้คงอยู่กับผลิตภัณฑ์และ/ หรือเครื่องดื่ม
5. บูรณาการชุดโครงการในการวิจัยและพัฒนาเป็นผลผลิตดังนี้
- เครื่องจักรต้นแบบแปรรูปการผลิตภัณฑ์และ/ หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกอง
- บรรจุภัณฑ์ต้นแบบ บรรจุผลิตภัณฑ์และ/หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกอง เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาคุณภาพด้าน สี กลิ่น รส คุณค่าทางโภชนาการให้คงอยู่กับผลิตภัณฑ์นั้น
- ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์และ/หรือลองกองสำเร็จรูปเพื่อการศึกษาทดลองผลิตภัณฑ์ ทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์
6. ศึกษาประเมินความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ประกอบการหรือวิสาหกิจชุมชน เกษตรกรชาวสวนที่ปลูกลองกอง
7. การจดสิทธิบัตรและทำรายงานฉบับสมบูรณ์
ผลลัพธ์ที่ได้
- น้ำลองกองเข้มข้น
- น้ำลองกองพร้อมดื่ม
- ลองกองในน้ำเชื่อมบรรจุกระป๋อง
- ลองกองแช่อิ่มอบแห้ง
- เครื่องสกัดน้ำลองกอง
- เครื่องล้างและปลิดขั้วลองกอง
เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลองกอง ช่วยแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดให้แก่เกษตรกรในช่วงฤดูกาลแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตนอกฤดูกาลให้มีมูลค่าสูงขึ้น ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อันจะช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคงและประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน
แผนการดำเนินงาน
พื้นที่ดำเนินงาน
1. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
เลขที่ 35 หมู่ 3 ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
พิกัดที่ตั้ง X = 100° 43′ 10.8″ E Y = 14° 2′ 38.1″ N
2. เกษตรกรชาวสวนผู้ปลูกผลไม้เป้าหมาย
3. ผู้ประกอบการและวิสาหกิจเป้าหมายที่ประสงค์รับเทคโนโลยี
งบประมาณโครงการ
งบประมาณประจำปี 2553 จำนวน 1,750,000 บาท
งบประมาณประจำปี 2554 จำนวน 4,314,000 บาท
ภาพผลงานโครงการ
การเปิดตัวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลองกองแก้ปัญหาผลผลิตตกต่ำให้เกษตรกร